“ญี่ปุ่นในมุมใหม่” … บันทึกประสบการณ์ 2 สัปดาห์กับการใช้ชีวิตแบบ โฮมสเตย์ และ เรียนภาษาญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

เรื่องและภาพ โดย คุณ พีระ วรปรีชาพาณิชย์
ผู้ชนะจากแคมเปญ #เจ๊เอ๊ด เรียกเก็บตัวที่ญี่ปุ่น 2 สัปดาห์ ฟรี! ในงาน JEDUCATION FAIR 2016

#เจ๊เอ๊ด รู้จักคุณพีระครั้งแรก ผ่านตัวหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวว่า “ทำไมถึงอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น”..
ทั้งสำนวนการเขียนที่คมคาย และความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ทำให้เจ๊ไม่ลังเลที่จะเลือกให้เขาได้ไปทำตามฝันค่ะ

คลิกอ่านเหตุผลที่อยากไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นของคุณพีระ
“เฮ้ย คิดออกมาได้ไงวะ”
นี่คือคำอุทานติดปากยอดฮิต ยามที่ได้เห็นคลิปโฆษณาจากประเทศญี่ปุ่น

ก็แหงล่ะสิ น่าจะมีแค่ไม่กี่ประเทศในโลก ที่พอเราดูหนังโฆษณาจบปุ๊บ ก็รู้ได้ทันทีว่ามันจากประเทศไหน

ด้วยความครีเอททั้งไอเดียและเนื้อเรื่อง ความสวยงามทางด้านภาพและความละเมียดละไมในทุกดีเทล และ ความคาดเดาไม่ได้ที่ลากให้เราต้องดูจนถึงวินาทีสุดท้ายเพื่อให้ได้คำตอบว่า

“อ๋อ มันขายไอ้นี่นี่เอง”

ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้ผมได้เห็นโฆษณาเจ๋งๆ จากประเทศญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ
ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ผสมผสานเทคโนโลยีจนออกมาเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

แต่พอจะไปหาข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังของตัวงานมาอ่าน ก็ทำได้แค่เพียงไถเม้าส์ ดูรูปประกอบไปพลางๆ เพราะมีกำแพงภาษาญี่ปุ่นมาขวางทางอยู่

ขนาดไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย เรายังสนุกกับงานโฆษณาญี่ปุ่นได้ขนาดนี้
ถ้าสามารถเข้าใจได้ว่า ในนั้น เขาพูด เขาสื่อสาร เขาเล่นมุกอะไรกัน มันสนุกขึ้นได้อีกขนาดไหน
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวเองอยากจะไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกเหนือจากเหตุผลยอดฮิตอย่าง เป็นประเทศในฝันที่อยากไปมาตั้งแต่เด็ก โตมากับมังงะ หรือ ชื่นชอบในวัฒนธรรม

อีกข้อหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันชั้นยอดคือ อยากจะเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้วิธีการทำสื่อและโฆษณาในคณะอย่าง Media Design
เพื่อจะหาว่าอะไรคือเคล็ดลับหรือปัจจัยที่ทำให้งานโฆษณาของญี่ปุ่นมีเสน่ห์น่าหลงใหลขนาดนี้
(ถึงขนาดมีคนทำช่องบน Youtube ที่รวบรวมโฆษณาญี่ปุ่นไว้อย่างเดียวเลยนะ!)

ไม่เข้าถ้ำเสือก็ไม่มีวันได้ลูกเสือฉันใด ไม่เข้าไปเรียนและใช้ชีวิตในญี่ปุ่นคงไม่มีวันได้คำตอบฉันนั้น

นี่แหล่ะ คือ แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น
เพื่อที่จะได้บอกกับตัวเองยามดูโฆษณาญี่ปุ่นได้อย่างเต็มปากว่า

“เฮ้ย รู้แล้ว ว่ามันคิดออกมาได้ไง”

..แล้ว 2 สัปดาห์ จะเป็นอย่างไรตามไปอ่านกันนะคะ :)

.

.

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

 

หลังจากจัดการอาหารมื้อแรกที่คุณแม่โฮสต์แฟมิลีลงมือทำให้เสร็จเรียบร้อย ท้องของผมอัดแน่นไปด้วยความอิ่ม แต่ในหัวของผมกลับว่างเปล่า

ใช่ ผมรู้ว่าหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นเราต้องพูดขอบคุณอาหารมื้อนั้น แต่ประโยคเจ้ากรรมนั้นน่ะ มันต้องพูดว่าอะไรนี่สิ…

 

โฮมสเตย์ และ เรียนภาษาญี่ปุ่น อาหารที่โฮสต์ทำ


ผมเรียนรู้คำว่า “อิตาดาคิมัส” มาจากอนิเมะที่ตัวละครพร้อมใจกันพูดก่อนรับประทานอาหาร ฉากที่เราเห็นๆ กันส่วนใหญ่ของมื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือซีรีส์ญี่ปุ่น คือการที่ทุกคนพร้อมหน้า กล่าวคำนี้พร้อมกัน ลงมือจัดการกับมื้ออร่อยตรงหน้า ก่อนจะตัดไปยังฉากอื่นกิจกรรมอื่น

 

อ้าว… ไม่มีฉากกินเสร็จเลย

ดังนั้น ประโยคที่ต้องกล่าวหลังกินข้าวเสร็จ เป็นปริศนาดำมืดที่คาใจผมมาโดยตลอด

 

ถ้าเปรียบ “อิตาดาคิมัส” คือตัวแทนของการเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นด้วยตนเองของผม
ทริปการเดินทางครั้งนี้ ก็น่าจะเหมือนกับ “ประโยคปริศนาหลังหม่ำเสร็จ” มันเปรียบเสมือนตัวแทนการเรียนรู้อีกด้านมุมหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นในแบบที่ไม่เคยได้เจอจากสื่อไหนๆ นอกจากจะได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง

 

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

 

ทริปการเดินทางไปเรียนภาษาญี่ปุ่น 2 สัปดาห์พร้อมที่พักโฮมสเตย์จากโค้ชเจ๊เอ๊ด Jeducation ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้รางวัลก้อนใหญ่เบิ้มจนเพื่อนๆ ทุกคนต้องตาร้อน  

พอลองนับนิ้วไล่เรียงดู ทริปนี้ก็เป็นการเปิดซิงชีวิตตัวเองหลายอย่างอยู่เหมือนกัน  พักแบบ โฮมสเตย์ ครั้งแรก – เดินทางไปญี่ปุ่นคนเดียวครั้งแรก – เรียนภาษาญี่ปุ่น แบบจริงจังครั้งแรก – ไปญี่ปุ่นช่วงฤดูหนาวครั้งแรก – ฯลฯ

ถามว่าตื่นเต้นมากขนาดไหน เรียกได้ว่าลุ้นกันตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ข่าวว่าชนะรางวัลกันเลยทีเดียว (เอ๊…ลากันขนาดนี้ ออฟฟิศจะไล่ออกมั้ยน้าาา~ )

แต่โชคชะตาฟ้าเป็นใจ ราวกับลิขิตมาให้แล้วว่าผมต้องได้เดินทางไปเจอกับประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ ทั้งวันลาที่ลงล็อค (ลาพักร้อนบวกวันหยุดราชการครบตามกำหนดวันลาติดต่อกันสูงสุดของออฟฟิศแบบพอดีเป๊ะ) อากาศไม่หนาวมากจนเกินไป และ มีนิทรรศการของศิลปินในดวงในจัดที่โตเกียวแบบพอดิบพอดี

 

ถึงจะไม่ใช่การไปญี่ปุ่นครั้งแรก

แต่นี่คือครั้งแรกที่จะได้ทำในสารพัดสิ่งที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน

 

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

โฮมสเตย์ เรียนภาษาญี่ปุ่น บรรยากาศยามเย็น

 

มิยาโกะซัง คุณป้าใจดีเจ้าของบ้านหลังย่อม ตกแต่งในสไตล์ชวนให้คิดถึงคาเฟ่แบบฝรั่ง คือคุณแม่โฮสต์ที่ผมต้องฝากเนื้อฝากตัว (และฝากท้องอาหารเช้า-เย็น) ด้วยตลอด 14 วันเต็ม

 

ปกติ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เพื่อความคุ้มค่าในแต่ละวันของการเดินทาง สูตรที่ผมใช้ประจำคือ “ตื่นให้เช้า ลากยาวให้ดึก” แต่งวดนี้ การอยู่แบบโฮมสเตย์ทำให้ต้องพับท่าไม้ตายนี้เก็บใส่กระเป๋าไปโดยปริยาย เพราะ มีคนรอให้เรากลับไปทานข้าวเย็นด้วยกันที่บ้านและพร้อมที่จะคุยแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องราวในแต่ละวัน

เลยต้องผ่อนเกียร์การใช้ชีวิตตัวเองลง เพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ให้มากขึ้น

 

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

 

โชคดีที่มิยาโกะซังพูดภาษาอังกฤษได้คล่องประมาณนึง โชคดีกว่าคือมิยาโกะซังชอบเมืองไทย ชอบอาหารไทย และเคยมาเหยียบไทยแลนด์แล้วท้ังสิ้นสี่ครั้งถ้วน จึงทำให้เรามีเรื่องคุยกันอย่างออกรส (และโชคดีที่สุดคือมิยาโกะซังชอบกระเป๋า Naraya ที่ซื้อไปเป็นของฝากจากเมืองไทยมากๆ แอบยิ้มตอนที่เขาเล่าว่า เพื่อนถามว่ากระเป๋าสวยจัง ซื้อมาจากไหน)

 

สำหรับใครที่สนใจโฮมสเตย์ หนึ่งในข้อแนะนำที่อยากบอกต่อคือ อย่าวางตารางการเที่ยวของตัวเองให้แน่นเอี้ยด ปล่อยวันฟรีไว้บ้างสักวันสองวัน เพราะ สิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างโฮมสเตย์กับการพักในโรงแรมหรือโฮสเทลในความคิดของผม คือ “เรื่องราวที่อยู่นอกแผนการเดินทาง”


ใครจะไปคิดมาก่อนล่ะว่า จะได้ไปร่วมก๊งกับลูกชายของมิยาโกะซังพร้อมเพื่อนวัยเด็กของเขาและภรรยาเป็นชาวไทย เดินเล่นในสวนร่วมกับครอบครัวลูกสาวของมิยาโกะซัง ไปจนถึงร้องคาราโอเกะตอน 7.30 น.​ และ ร่วมงานฉาย DVD คอนเสิร์ตนักร้องในดวงใจของมิยาโกะซังซึ่งเธอเป็นคนจัดงาน!

 

โฮมสเตย์ เรียนภาษาญี่ปุ่น กับโฮสต์มัม

โฮมสเตย์ เรียนภาษาญี่ปุ่น ทำกิจกรรมร่วมกัน

 

ไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองเป็นแขกที่ไปพักบ้านคนที่ไม่รู้จัก แต่เหมือนได้กลายไปเป็นคนในครอบครัวของมิยาโกะซังอีกคนหนึ่งเสียมากกว่า

 

ท่ามกลางอากาศหนาวๆ สิ่งที่ทำให้ร่างกายและหัวใจอบอุ่นกว่าโต๊ะโคะทัตซึในห้องนอน คือการดูแลเอาใจใส่จากมิยาโกะซังเนี่ยแหล่ะ

 

โฮมสเตย์ และ เรียนภาษาญี่ปุ่น ห้องพัก

 

‘อ่านฮิรางานะและคาตาคานะออกว่าเขียนว่าอะไร เข้าใจความหมายเป็นบางคำ เขียนไม่ได้ พูดได้บ้างเล็กน้อยกับคำง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน’ นี่คือความรู้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมดที่ผมมีติดตัวมาจากเมืองไทย ที่พอใช้เอาตัวรอดได้บ้าง แต่ยังใช้งานจริงไม่ค่อยจะได้สักเท่าไร

 

คอร์สภาษาญี่ปุ่นที่ผมจะได้ไปอัพเลเวลตัวเองนั้น เป็นของโรงเรียนสอนภาษา Intercultural Institute of Japan โดยสัปดาห์แรกจะเป็นคอร์สระดับ Beginner ที่เน้นการสนทนาเป็นหลัก เช่น แนะนำตัวว่าชื่ออะไร มาจากที่ไหน การบอกเวลา พร้อมคำศัพท์ง่ายๆ เช่น สถานที่ ของใช้ หรือ ของกิน พร้อมปิดท้ายด้วยการสอนเขียนฮิรางานะ ส่วนสัปดาห์ที่สองจะลงลึกมากขึ้นทั้งด้านเนื้อหาและไวยากรณ์

 

บรรยากาศในห้องเรียนก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน มีคนมาจากหลากหลายแหล่งตั้งแต่อเมริกาไปจนถึงไต้หวัน (เจอคนไทยด้วย!) ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะคอร์สนี้ออกแบบมาเพื่อนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ คือ เรียนเฉพาะช่วงเช้า 10.00 – 13.00 น. ช่วงบ่ายก็ยังมีเวลาให้ไปเที่ยวได้แบบสบายๆ

 

โฮมสเตย์ และ เรียนภาษาญี่ปุ่น ภายในห้องเรียน

 

แน่นอนว่าที่ได้เรียนนี้มันเป็นแค่เศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของจักรวาลภาษาญี่ปุ่นอันกว้างใหญ่ไพศาล (แหงสิ แค่ 2 สัปดาห์เอง) แต่ก็นำเอาไปใช้จริงได้อยู่นะ ได้เอาไปคุยกับคุณแม่โฮสต์ (รวมถึงให้คุณแม่โฮสต์ช่วยตรวจการบ้านให้ด้วย) รวมถึงถามหาของจากพนักงานในร้านสะดวกซื้อด้วย แฮ่ม!

 

แต่อีกหนึ่งประโยชน์ที่ได้เจอกับตัวเองเกี่ยวกับการเปิดประโยคสนทนากับคนญี่ปุ่นด้วยภาษาญี่ปุ่นคือ มันช่วยสร้างคะแนนความประทับใจให้กับอีกฝ่ายได้เป็นอย่างดี เฟิร์สอิมเพรชชั่นที่เขาจะมีต่อเราคือ “เฮ้ย ดูซิ เขาพยายามพูดญี่ปุ่นกับเราด้วยน่ะ”

 

เหตุการณ์จริง
ภายใน / บาร์ Kodoji ที่ Golden Gai ย่านชินจูกุ

 

ผมผู้มาตามรอยช่างภาพในดวงใจที่บาร์แห่งนี้ นั่งเจื่อนๆ ท่ามกลางคนญี่ปุ่นที่แน่นขนัด
พี่ผู้ชายข้างๆ คงเห็นชายไทยหงอยๆ อยู่คนนึงเลยเปิดประโยคสนทนาชวนคุย

A ซัง : (ภาษาญี่ปุ่น) ไฮ คนนิจิวะ โอ นามาเอะ วะ? [สวัสดี คุณชื่ออะไรน่ะ?]

ผม : (โอ้โห นี่ถามด้วยประโยคเดียวกับที่เซ็นเซย์สอนมาแบบเป๊ะๆ เลย) (ภาษาญี่ปุ่น) พีระ เดส [พีระ ครับ]

A ซัง : (ภาษาญี่ปุ่น) พีระซัง โอ คุนิ วะ? [คุณมาจากประเทศไหนน่ะ?]

ผม : (อื้อหือ นี่ตามแบบเรียนเป๊ะ มาๆ โชว์หน่อย) (ภาษาญี่ปุ่น) ไทย โนะ บางกอกกุ คารา คิมาชิตะ [มาจากกรุงเทพ ประเทศไทยครับ]

A ซัง : (ภาษาญี่ปุ่น) @($)*@)(*$)@*%)(*Q@%(* [ฟังไม่ออกแหล่วววววว]

ผม : (ยิ้มสยามตามแบบฉบับคนไทยที่ดี) ซูมิมะเซน Could you speak English?  แหะๆ​

A ซัง : …

ผม : …

 

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

 

ฟิลลิ่งของการเที่ยวในทริปนี้ ไม่เหมือนครั้งไหนๆ ที่เคยมาญี่ปุ่น

เพราะทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเนิบๆ ไม่ต้องรีบเร่งเก็บเช็คพอยท์ที่เที่ยวยอดฮิตราวกับแข่งแรลลี

 

ลองไล่เรียงเหตุผลน่าจะเป็นตามนี้

  1. เพราะอยู่ตั้ง 14 วันยังไงล่ะ แถมอยู่แต่โตเกียว ไม่ได้ออกไปนอกเมือง เวลาเหลือๆ ค่อยๆ สโลว์ไลฟ์ได้
  2. เพราะส่วนใหญ่ เวลาการออกเที่ยวจะสตาร์ทราวๆ บ่ายสอง (เลิกเรียนบ่ายโมง กินข้าวเที่ยงเสร็จก็เวลาประมาณนี้) กว่าจะไปยังแต่ละที่ เที่ยวเสร็จก็เริ่มเย็นแล้ว เป็นเวลาครึ่งๆ กลางๆ ที่ชวนให้คิดว่า เอ๊ จะไปต่อดี หรือ โอย อากาศหนาว คิดถึงข้าวเย็นและโต๊ะโคทัตสึแล้ว (ส่วนใหญ่ อันหลังจะชนะ)​
  3. เพราะส่วนใหญ่ที่ปักหมุดเอาไว้ในแผน เป็นร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์​ หรือ เส้นทางเดินชมเมือง แน่นอนว่า ไปทีก็เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกนึง รู้ตัวอีกที อ่าว มืดแล้ว กลับบ้านดีกว่า

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเที่ยวคนเดียวจะเพอร์เฟ็คท์เสมอไป แม้ว่าจะคล่องตัวสูงมาก ไปที่ไหนก็ได้ที่อยากไปโดยไม่ต้องแคร์คนอื่น หรือ สามารถสลับสับเปลี่ยนตาราง นัดเจอเพื่อนที่บังเอิญอยู่ญี่ปุ่นพอดี แล้วโยกที่ๆ อยากเที่ยวไปไว้วันหลังได้ก็ตาม แต่การต้องเดินคนเดียวฝ่าลมหนาวเหน็บ ท่ามกลางคู่รักกระหนุงกระหนิงดูไฟงานเทศกาล Illumination เนี่ย ต่อมความเหงาก็กำเริบได้ง่ายๆ เหมือนกัน

 

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

 

“โกจิโซซามะเดชิตะ”

ผมกล่าวกับมิยาโกะซัง หลังจากรับประทานอาหารเย็นมื้อสุดท้าย ก่อนที่จะต้องเข้านอนเพื่อตื่นตีสี่ ขึ้นรถไฟเที่ยวแรกไปยังสนามบินนาริตะ

ในที่สุด ผมก็ได้รู้แล้วว่า “ประโยคปริศนา” ที่ว่ามันคืออะไร

 

ดีใจและประทับใจ พอๆ กับการได้รู้ว่าประสบการณ์การเดินทางสุดพิเศษครั้งนี้ ทั้งการได้เรียนภาษาแบบจริงจัง หรือ การได้มานอนพักในบ้านคนอื่นในฐานะแขกโฮมสเตย์ นั้นให้อะไรกับผมมากขนาดไหน

ให้แรงบันดาลใจอยากจะลองเรียนภาษาญี่ปุ่นแบบจริงจัง ให้ความรู้สึกเสมือนได้เป็นสมาชิกของครอบครัวใหม่ ให้เรื่องราวดีๆ มากมายที่อัดแน่นอยู่ในสมุดบันทึก

 

และที่สำคัญ ให้ผมได้รู้ว่า ต่อให้ไปอยู่ตั้ง 14 วัน แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากจะรู้อยากจะสัมผัสกับประเทศญี่ปุ่นอยู่ดีนั่นแหล่ะ!

 

ขอบคุณ Jeducation อีกครั้ง สำหรับโอกาสสุดพิเศษนี้ครับ

 

โฮมสเตย์และเรียนภาษาญี่ปุ่น

 

รายละเอียด SUMMER คอร์สที่ญี่ปุ่น

 


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top