ตามติดนักเรียนใหม่ร.ร. Intercult ภาคเรียนเมษายน 2013 (ตอนที่ 3)

ตามติดนักเรียนใหม่ร.ร. Intercult ภาคเรียนเมษายน 2013  กันต่อนะคะ
ตอนนี้   เป็นเรื่องของการซื้อโทรศัพท์มือถือและเปิดบัญชีธนาคารค่ะ

การเปิดบัญชีธนาคาร / บัญชีไปรษณีย์

การเปิดบัญชีธนาคารที่ญี่ปุ่นสำหรับนักเรียนต่างชาตินั้น     เงื่อนไขของแต่ละธนาคารจะค่อนข้างแตกต่างกันไป  บางแห่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ในญี่ปุ่นเกิน 6 เดือนขึ้นไปจึงจะเปิดบัญชีธนาคารได้  บางแห่งต้องใช้  Inkan :印鑑 (ตราประทับใช้แทนลายเซ็นต์ )ในการเปิดบัญชี  ในขณะที่บางแห่งใช้ลายเซ็นต์แทนก็ได้  เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนของโรงเรียนอินเตอร์คัลท์ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลค่ะ  เพราะทางโรงเรียนจะมีเจ้าหน้าที่พาไปเปิดบัญชีธนาคารซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน    แต่ก่อนอื่น  เพื่อไม่ให้เสียเวลา  ก็ต้องมานั่งกรอกเอกสารการขอเปิดบัญชีธนาคารกันก่อนนะคะ    แน่นอนว่านักเรียนจะต้องเขียนเอกสารด้วยตัวเอง และเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น   ซึ่งทางโรงเรียนก็มีตัวอย่างให้ดูว่าจะต้องกรอกอย่างไรค่ะ

สำหรับเอกสารอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมไปด้วยก็ได้แก่  บัตรไซริวการ์ด  บัตรประกันสุขภาพ  บัตรนักเรียน  หนังสือเดินทาง และ inkan 印鑑 ( ตราประทับที่ใช้แทนลายเซ็นต์  )  ซึ่งน้อง ๆ ก็ไปจัดการทำ inkan ที่ร้านใกล้ ๆ โรงเรียนมาเรียบร้อยแล้ว

กรอกแบบฟอร์มเรียบร้อย   เอกสารทุกอย่างก็เตรียมพร้อม  ว่าแล้ว…โบซัง เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนก็พาเดินไปเปิดบัญชีธนาคารกันค่ะ


มาถึงก็กดบัตรคิวนะคะ

พอถึงคิวตัวเอง  ก็เอาเอกสารไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจเช็คค่ะ    การเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรกจะใส่เงินไว้เท่าไหร่ก็ได้  ตั้งแต่ 1 เยนขึ้นไป  พร้อมทั้งสมัครทำบัตรกดเงินสดหรือ ATM ได้เลย

กลับมานั่งรอสักครู่  ก็ได้สมุดบัญชีมาเรียบร้อย   ส่วนบัตร ATM จะถูกส่งมาให้ที่บ้านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ค่ะ

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธนาคารญี่ปุ่น >> ธนาคาร 

 

นอกจากการเปิดบัญชีเงินฝากกับทางธนาคารแล้ว  ยังสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับไปรษณีย์ด้วยนะคะ  ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารปรกติค่ะ   มีสมุดบัญชีเงินฝาก  มีบัตร ATM ให้กดเงินสดได้เหมือนกัน   การเปิดบัญชีเงินฝากกับทางไปรษณีย์ก็ค่อนข้างทำได้ง่ายกว่าธนาคาร   แต่จะไม่สามารถให้ผู้ปกครองโอนเงินระหว่างประเทศจากไทยเข้ามาได้

 

หลังจากเปิดบัญชีธนาคารแล้ว   ข้าง ๆ มีห้างทาเคยะ 多慶屋 หรือที่คนไทยเรารู้จักกันดีในชื่อของ ” ตึกม่วง ” เพราะตัวอาคารซึ่งมีอยู่หลายตึก  แบ่งตามประเภทของสินค้า  ทุกตึกทาสีม่วงเห็นได้เด่นชัดมากค่ะ   ห้างทาเคยะนี่เรียกได้ว่าอยากจะซื้ออะไรมีทุกอย่างค่ะ  ตั้งแต่ของกระจุกกระจิกไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์  และราคาถือว่าไม่แพงค่ะ   ว่าแล้วก็แวะช้อปปิ้งกันหน่อยดีกว่า

ดูท่าจะได้ซื้อของที่นี่กันบ่อย ๆ  น้อง ๆ เลยทำบัตรสมาชิกด้วยเลย  สามารถสะสมแต้มไว้เพื่อรับโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้ค่ะ

 

โทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบัน การซื้อและทำสัญญาโทรศัพท์มือถือสำหรับนักเรียนต่างชาตินั้น  ง่ายและสะดวกกว่าแต่ก่อนอย่างมากค่ะ   เพราะการแข่งขันทางการตลาดที่ค่อนข้างสูง  ทำให้บริษัทค่ายโทรศัพท์ อย่าง Softbank และ au (KDDI)  ซึ่งมีโปรโมชั่นสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ  ต่างพากันเข้าถึงลูกค้าโดยตรง  โดยเข้ามาให้บริการแนะนำและทำสัญญาการซื้อโทรศัพท์มือถือ  ถึงที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น  แถมยังมีพนักงานที่สื่อสารได้หลายภาษา  เช่น อังกฤษ  จีนและเกาหลีค่ะ

โดยทั่วไปการทำสัญญามือถือที่ญี่ปุ่น จะทำสัญญาครั้งละ 2 ปีค่ะ  ถ้าครบ 2 ปีแล้วไม่ได้ยกเลิกภายในเดือนที่หมดสัญญานั้น   ก็จะถือว่าต่อสัญญาอีก 2 ปีโดยอัตโนมัติ   และถ้ายกเลิกก่อนหมดสัญญาก็จะต้องเสียค่ายกเลิกประมาณ 1 หมื่นเยน  ซึ่งเป็นเรื่องปรกติค่ะ

ส่วนโปรโมชั่นต่าง ๆ  ก็จะคล้ายบ้านเราที่มีหลายโปรโมชั่นให้เลือก และจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ว่าจะมีโปรโมชั่นอะไรออกมา   สำหรับช่วงที่น้อง ๆ ซื้อกันนี้  iPhone 5  16 GB   ของ au   ค่าเครื่อง iPhone ฟรี   อินเตอร์เน็ตไม่จำกัด  โทรในเครือข่ายเดียวกันฟรีในช่วงเวลาตีหนึ่งถึงสามทุ่ม   ค่าบริการเดือนละประมาณ 3,900 เยน  รวมค่าประกันเครื่องแล้ว   ถ้ายกเลิกสัญญาก่อนครบ 2 ปีก็ไม่ต้องชำระค่าเครื่องแต่อย่างใด  ชำระเฉพาะค่ายกเลิกสัญญาประมาณหนึ่งหมื่นเยนอย่างเดียว   คิดไปคิดมา  ถูกกว่าที่เมืองไทยเสียอีกนะคะเนี่ย

หมายเหตุ :
เงื่อนไขและโปรโมชั่นของค่ายมือถือแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ช่วงเวลา กรุณาตรวจเช็คข้อมูลจากเว็บไซท์ของแต่ละบริษัทนั้น ๆ โดยตรง

ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว  ก็รับเครื่องไปเลยค่ะ  ไม่ต้องจ่ายเงินค่าอะไร  ส่วนค่าบริการก็จะตัดบัญชีจากธนาคารที่น้อง ๆ ไปเปิดไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ

ขั้นตอนหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำในช่วงแรกเมื่อมาถึงญี่ปุ่นก็จัดการกันไปเรียบร้อยแล้ว   หลังจากนี้ก็เริ่มใช้ชีวิตนักเรียนในญี่ปุ่นกันอย่างจริงจังล่ะค่ะ   สู้ สู้นะคะ

 

Link ที่เกี่ยวข้อง : โรงเรียน  Intercultural Institute of Japan 

Tags: , ,