โฉะโฮเซ็น(処方せん):ใบสั่งยา ( หาหมอที่ญี่ปุ่น )
โดย อ.ปมโปโกะ


โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นมักจะเรียกคลินิกรวมไปกับโรงพยาบาลว่า “เบียวอิง” (病院:โรงพยาบาล)  เอะอะก็บอกว่า「病院へ行く」(เบียวอิงเอะอิขุ:ไปโรงพยาบาล)คนไทยได้ฟังก็ตกใจว่าไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ ต้องไปโรงพยาบาลเลยเหรอ คลินิกแถวบ้านก็พอ หรือไม่ก็ร้านหมอยาทั่วไป  ที่จริงแล้ว “เบียวอิง” ในความหมายกว้างจะรวมสถานพยาบาลตั้งแต่คลินิกไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ๆ

คลินิกรักษาโรคในญี่ปุ่น  ถ้าเป็นภาษาเก่าหน่อยจะเรียกว่า “ชินเรียวโจะ” (診療所:สถานพยาบาล) ซึ่งปัจจุบันก็จะเห็นตามชื่อคลินิก ไม่ค่อยได้ใช้ในภาษาพูด  ในภาษาพูดนิยมพูดคำว่า “ขุรินิกขุ”(クリニック: คลินิก)ทับศัพท์ภาษาอังกฤษตามปกติอย่างคลินิกที่ผมไปก็ใช้ชื่อว่า “ซาเนะชิเงะคลินิก” (さねしげクリニック) และด้วยเรื่องเนื้อที่ที่มีจำกัดบวกกับสวัสดิการด้านสุขภาพของญี่ปุ่น เราก็อาจจะเห็นโรงพยาบาลเล็กๆ ในชุมชนด้วย ขนาดก็พอๆ กับโพลีคลินิกบ้านเรา ซึ่งโพลีคลินิกในญี่ปุ่นจะถือว่าเป็น “เบียวอิง” แล้ว

เข้ามาในคลินิกบรรยากาศก็คงเหมือนๆ กับคลินิกบ้านเรา มีที่นั่งสำหรับผู้มารับการรักษา และมีห้องตรวจตามปกติ สิ่งที่ไม่มีในคลินิกก็คือยานั่นเอง  ที่ญี่ปุ่นนั้นแผนกตรวจโรคกับแผนกยาจะแยกจากกันเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อหมอวินิจฉัยโรคแล้ว ก็จ่ายค่าบริการตรวจโรคเสร็จ แล้วก็รับใบสั่งยาจากคลินิก

หาหมอที่ญี่ปุ่น พบแพทย์

คลินิกญี่ปุ่นมักจะมีร้านขายยาอยู่ใกล้ๆ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าที่จริงแล้วเป็นร้านเดียวกันแต่แยกสถานที่ หรือไม่เกี่ยวกันแต่แค่แนะนำที่ซื้อยาให้เท่านั้นเอง  เพราะเมื่อได้รับใบสั่งยาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็แนบแผนที่ หรือถ้าใกล้กันมาก ก็จะบอกทางไปร้านขายยาให้

ผมออกจากคลินิกเดินไปได้ ๑๐ เมตรก็เห็นป้าย “คุสุหริ” (薬,くすり:ยา)สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่านี่คือร้านขายยา  ถ้าเป็นที่เมืองไทยอาจจะเป็นรูปเครื่องหมายกาชาด แต่ที่ญี่ปุ่นแทบไม่เห็นเครื่องหมายเหล่านั้นเลย จะเห็นก็เพียงตัวอักษร หรือตัวจีนว่า “คุสุหริ”(薬) เท่านั้น

ร้านขายยาภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า薬屋(kusuriya)หรือชื่อที่เป็นทางการกว่านั้นคือ 薬局(yak-kyoku) ที่ญี่ปุ่นมี ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งคือ ร้านขายยาทั่วไป ร้านเหล่านี้นอกจากจะขายยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ หรือยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยาแล้ว ยังขายตั้งแต่ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก โฟมล้างหน้า กระดาษทิชชู่ ซึ่งเป็นของใช้ประจำวัน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหารเสริม เหมือนร้านขายของชำแบบขึ้นห้างของบ้านเรา

 

ร้านขายยาที่ชื่อดังมากๆ ก็มี “มัตสึโมโตะคิโยะฉิ”(マツモトキヨシ)เนื่องจากชื่อยาวมาก บางครั้งเรียกย่อๆ ว่า “มัตสึคิโยะ”(マツキヨ)ร้านขายยาดังกล่าวมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ เพราะมีการลดราคาสินค้าพวกยาแก้ไข้ ยาหยอดตา หรือเครื่องใช้ประจำวันอยู่เป็นประจำ (แต่ชอบขึ้นป้ายว่า “วันนี้ลด” เห็นกี่ทีก็ลดทุกวัน)

หาหมอที่ญี่ปุ่น ร้านขายยาทั่วไป

ร้านขายยาอีกประเภทคือ ร้านขายยาที่มักจะติดป้ายหราตัวใหญ่ๆ ว่า “โฉะโฮเซ็น” (処方箋:shohousen)ซึ่งแปลว่า “ใบสั่งยา” อย่างเช่นร้านนี้ติดป้ายว่า “โฉะโฮเซ็น อุเค็ทสึเกะ” (処方せん受付:shohousen uketsuke:รับใบสั่งยา)

หาหมอที่ญี่ปุ่น ร้านที่รับใบสั่งยา

เอกลักษณ์ของร้านขายยาแบบนี้คือ มีป้าย “คุสุหริ”(薬)เหมือนแบบแรก แล้วก็มีป้าย “โฉะโฮเซ็น”(処方せんหรือしょほうせん)อย่างที่บอกนี่ล่ะครับ ซึ่งมักจะไม่ใช้ตัวจีนในคำสุดท้าย

บางทีจะเห็นป้าย「調剤薬局」(chouzai yakkyoku)แปลเอาเองว่า “ร้านปรุงยา”  สภาพเหมือนมาคลินิกรอบสอง เมื่อเข้าไปข้างในก็ยื่น “โฉะโฮเซ็น” ที่ได้รับจากคลินิกเมื่อครู่ให้เภสัชกร แล้วก็นั่งรอหน้าเคาเตอร์ สักพักเจ้าหน้าที่จะนำยามาให้ ก็จ่ายเงินค่ายาเป็นอันจบขั้นตอนการ “ไปโรงพยาบาล”

ดังนั้นการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งจึงเสียเงินสองรอบ รอบแรกเป็นค่าหมอ และเสียค่ายาอีกที่ร้านขายยา ตอนรับยา เจ้าหน้าที่จะเรียกไปอธิบายว่ายาตัวไหนเป็นยาอะไรอย่างไร  แต่สิ่งที่แตกต่างจากโรงพยาบาลในเมืองไทยคือ จะมีเอกสารพิมพ์อธิบายชื่อยาอย่างละเอียดว่ามีสรรพคุณอย่างไร  ซึ่งแต่ละร้านก็จะแตกต่างกันไปบ้าง อย่างร้านนี้จะมีรูปยาและคำอธิบายสรรพคุณให้พร้อม

ระบบการจ่ายยาของญี่ปุ่นแตกต่างจากเมืองไทย ในเรื่องสิทธิของผู้ป่วยที่จะรู้ว่าหมอสั่งยาอะไรให้ตัวเองกิน ใน“โฉะโฮเซ็น” และเอกสารอธิบายยาจึงเขียนชื่อยาไว้ชัดเจน ไม่มีการแปลงชื่อเป็นภาษาลาตินอย่างในบ้านเรา  (ได้ยินว่าสมัยก่อนที่ญี่ปุ่น หมอจะเขียนใบสั่งยาเป็นตัวจีนยากๆ อ่านไม่รู้เรื่องเช่นกัน) การเขียนชื่อยาเป็นภาษาลาตินที่คนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจนั้นอาจเป็นเพราะหากผู้ป่วยทราบชื่อยาก็จะหาซื้อยากินเองซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ แต่เนื่องจากในญี่ปุ่นมีการควบคุมยาบางประเภทอย่างเข้มงวด ถ้าไม่มีใบสั่งยาจะไม่ขายให้กับผู้ป่วย จึงถึงมือผู้ใช้ยากกว่าในเมืองไทย

ร้านขายยาที่ต้องมีใบสั่งยานี้ ส่วนใหญ่สามารถรับใบสั่งยาจากคลินิกหรือโรงพยาบาลอื่นๆ นอกจากสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงกัน (ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นหุ้นส่วนกัน) แต่บางที่ก็อยู่ลึกลับชนิดที่ว่าถ้าไม่มีแผนที่จากคลินิกหมอ ก็คงไม่รู้ว่ามีร้านนี้อยู่ จึงทึกทักเอาว่าคงจะมีร้านขายยาบางร้านที่บริการเฉพาะคลินิก จริงเท็จอย่างไรต้องถามเภสัชกรที่ญี่ปุ่นอีกที

โดยทั่วไปค่ายาในญี่ปุ่นจะแพงมาก ทุกคนจึงทำประกันสุขภาพแห่งชาติที่เรียกว่า “ขกคุมิงเค็งโคโฮะเค็น”(国民健康保険:kokumin kenkou hoken) ลักษณะคล้ายประกันสังคมในเมืองไทย  ซึ่งจะลดค่ารักษาและค่ายาได้ถึง 60 – 70 %

สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยอีกอย่างเวลาไป หาหมอที่ญี่ปุ่น ก็คือ การพกบัตรประกันสุขภาพไปด้วย ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบบัตรจากสมุดพกที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเป๋าเงินเป็นบัตรเพื่อให้พกติดตัวได้ตลอดเวลา

หาหมอที่ญี่ปุ่น บัตรประกันสุขภาพ

ผมเคยลืมพกสมุดพกที่ว่านี้ครั้งหนึ่งระหว่างที่ไปต่างจังหวัด ปรากฏว่าเป็นตาแดงระหว่างเดินทาง ต้องจ่ายค่ายาเป็นหมื่นเยน น้ำตาจะไหลเพราะแพงมากและกำลังอยู่ในระหว่างเดินทางด้วย  แต่หากเก็บใบเสร็จค่ารักษาไว้ก็สามารถไปยื่นเรื่องขอส่วนลดค่ารักษาคืนได้  และยิ่งถ้าเป็นนักศึกษาต่างชาติก็สามารถนำในเสร็จในการรักษา (ค่าหมอและค่ายา) ไปทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือค่ารักษาได้ในภายหลัง

 

ศัพท์เพิ่มเติม

国民健康保険 : kokumin kenkou hoken
国民   kokumin  ประชาชน
健康   kenkou   สุขภาพ
保険   hoken   ประกัน
健康です      kenkou desu    สุขภาพดี
体調が悪い    taichou ga warui สุขภาพไม่ดี
健康にいい    kenkou ni ii     ดีต่อสุขภาพ
คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  

 

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-2677726
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top