เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น ดีไหม  เรื่องที่ผู้ปกครองควรรู้และเข้าใจ

เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น ดีไหม

ญี่ปุ่นติดอันดับที่ 2 ของการจัดอันดับ  20 ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก  (The World Top 20 Education Poll) และติดอันดับที่ 4 ของการจัดอันดับ 20 ประเทศที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ดีที่สุดในโลก โดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)

อ่านแบบนี้แล้ว   อาจจะมีผู้ปกครองหลายท่านรู้สึกว่าอยากจะส่งลูกส่งหลานไป เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น บ้าง   ซึ่งจะว่าไปคุณพ่อคุณแม่ยุคปัจจุบัน ส่งลูกไปเรียนต่อญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับมัธยมปลายมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนค่ะ

ชุดนักเรียน ญี่ปุ่น

ส่งลูก ไป เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น ดีไหม ?

การไปเรียนต่อในระดับม.ปลายที่ญี่ปุ่นของเด็กไทย  จะแตกต่างจากการไปเรียนต่อประเทศอื่นตรงที่  ส่วนใหญ่ “คุณลูก” จะเป็นฝ่ายขอไปเรียนเอง  เพราะชอบญี่ปุ่น  มีความหลงใหลอะไรสักอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น ทำให้อยากไปเรียนไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น

ส่วนด้านที่ผู้ปกครองเป็นฝ่ายที่อยากส่งให้ลูกไปเรียนที่ญี่ปุ่นนั้น ก็มีบ้าง  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน อาจจะเป็นธุรกิจของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น หรือคุณพ่อคุณแม่ทำงานเกี่ยวกับญี่ปุ่น  เห็นความสำคัญของการได้ทักษะภาษาญี่ปุ่น และอยากให้ลูกไปอบรมบ่มนิสัยที่มีระเบียบวินัยแบบญี่ปุ่น

ชุดนักเรียน ม.ปลาย เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น

ทำความเข้าใจ ระบบการ เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น

ก่อนที่จะคิดไป เรียนต่อม.ปลายที่ญี่ปุ่น  หรือคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังคิดจะส่งลูกไปเรียนต่อม.ปลายที่ญี่ปุ่น  อยากให้ทำความเข้าใจกับการไปเรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่นกันสักนิดค่ะ

โดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่น  ไม่ได้เปิดกว้างให้เด็กต่างชาติสมัครเข้าไปเรียนแล้วพักกับครอบครัวโฮสต์แฟมิลี่ แบบแบบอังกฤษ  นิวซีแลนด์  ออสเตรเลีย ฯลฯ ค่ะ   เด็กต่างชาติที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายของญี่ปุ่น  ไม่ว่าจะโรงเรียนเอกชนหรือรัฐบาล   โดยพื้นฐานเลยคือจะต้องมีพ่อหรือแม่เป็นคนญี่ปุ่น  หรือทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น   ( ไม่นับกรณีที่ไปโครงการแลกเปลี่ยนสั้นๆ อย่างเช่น AFS )

โรงเรียนมัธยมปลายของเอกชนที่รับเด็กต่างชาติเข้าเรียน  โดยที่ผู้ปกครองไม่ใช่คนญี่ปุ่น หรือไม่ได้ทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็มีบ้างแต่น้อยมาก  แต่กรณีแบบนี้ ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะต้องไปติดต่อกับทางโรงเรียนเองโดยตรง   ทั้งยังต้องมีญาติที่สามารถดูแลนักเรียนในระหว่างที่เรียนที่ญี่ปุ่นได้   อีกทั้งปัญหาเรื่องภาษาญี่ปุ่น  ถ้านักเรียนไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นมาก่อนหรือมีเพียงเล็กน้อย  การจะไปนั่งเรียนกับเด็กญี่ปุ่นตามปรกติเป็นเรื่องที่ยากมาก

เรียน ม.ปลาย ที่ญี่ปุ่น

ดังนั้น  เด็กต่างชาติที่อยากไปเรียนต่อมัธยมปลายที่ญี่ปุ่น    ส่วนใหญ่จึงต้องไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการเปิดรับเด็กต่างชาติเข้าเรียนได้อย่างจริงจัง   มีหลักสูตรการสอนภาษาญี่ปุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านภาษา   ก่อนที่จะได้เข้าเรียนวิชาตามปรกติกับเด็กญี่ปุ่นจริงๆ   ซึ่งโดยมากจะเป็นโรงเรียนประจำ  คือต้องใช้ชีวิตนักเรียนประจำอยู่ที่โรงเรียน  ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตหรือโรงเรียนพาออกไป

ชีวิตนักเรียน มัธยมปลาย ญี่ปุ่น


ชีวิตในโรงเรียนมัธยมปลายของญี่ปุ่น แบบโรงเรียนประจำเป็นยังไง?

1. เช้าจรดค่ำ ทำตามตาราง

เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ  วันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำจะมีตารางเวลาที่กำหนดแน่นอนว่าต้องตื่นกี่โมง  ตื่นมาปั๊บ ต้องทำอะไร  มีเวลาให้อาบน้ำแต่งตัวกี่นาที   ต้องไปถึงตึกเรียนภายในกี่โมง   ทำการบ้านกี่โมง   ปิดไฟนอนกี่โมง ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น

6:45   ตื่นนอน เช็คชื่อ เก็บเตียง ล้างหน้า
7:00   ออกลังกายตอนเช้า
7:10   รับประทานอาหารเช้า  แต่งตัว
8:15   ออกจากหอ ไปโรงเรียน
……..
15:00 เลิกเรียน ทำกิจกรรมชมรม
……..
17:00  ทานข้าวเย็น, อาบน้ำ
19:00  เช็คชื่อ, เก็บกวาดห้อง และทำความสะอาดหอ
19:25  นั่งสมาธิ
20:00  ทำการบ้าน
22:00  พักผ่อนตามอัธยาศัย
22:30  เช็คชื่อครั้งสุดท้าย  เข้านอน

เป็นต้น

อาหารกลางวัน เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น  เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น เตรียมอาหาร

2. ฝึกวินัยเคร่งครัด

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโรงเรียนไทยมีกฎระเบียบมากมาย   แต่ลองไปเจอระเบียบวินัยของโรงเรียนประจำของญี่ปุ่นดูสักทีค่ะ  จะพบว่ามันช่าง “เยอะ”

ญี่ปุ่นฝึกคนให้มีวินัยที่เคร่งครัดตั้งแต่เด็กๆ   เพราะสิ่งสำคัญที่คนญี่ปุ่นคำนึงถึงมากที่สุดคือ  การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น  การที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนหรือเป็นภาระให้ผู้อื่น   เด็กญี่ปุ่นถูกอบรมกันมาให้มีความเข้าใจ  เชื่อฟังและปฏิบัติตาม  ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อส่วนรวม   เวลามีการประกาศขอความร่วมมือให้ทำอะไร  คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงปฏิบัติตามแบบอัตโนมัติ  ( พวกที่ชอบแหกกฎก็มีค่ะ แต่เป็นส่วนน้อย )

ญี่ปุ่นไม่ได้เน้นให้ทุกคนเป็นผู้นำ  เพราะภาวะผู้นำไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน  แต่จะเน้นให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ตามที่ดีได้   เพราะการจะเป็นผู้นำที่ดี จะต้องรู้จักการเป็นผู้ตามที่ดีด้วยเช่นกัน

ดังนั้น  คุณพ่อคุณแม่ที่คิดจะส่งลูกไปเรียนที่ญี่ปุ่น  ก็ต้องดูนิสัยของคุณลูกด้วยว่าจะเหมาะไหม  สามารถอดทนต่อการฝึกวินัย  การตรงต่อเวลา  การรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้หรือไม่

เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น เข้าแถว

 

นัดหมายเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถาบันและศิษย์เก่าจากสถาบัน
คลิกที่นี่ค่ะ >> https://bit.ly/jed-line

3. รุ่นพี่ที่เคารพ

ต้องบอกว่าระบบเซมไป-โคไฮ  หรือรุ่นพี่รุ่นน้องในระดับมัธยมนั้นเข้มมาก   ในห้องเรียนจะเรียนกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน   แต่การอยู่ในหอพัก  และทำกิจกรรมชมรม  จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง 3 ปี  (มัธยมปลายปีที่ 1 – ปีที่ 3)

เมื่อเข้าไปใหม่ๆ เป็นนักเรียนปี 1  จะถือว่าเป็นรุ่นน้องที่สุด  ไม่ได้แปลว่าจะได้รับความเอ็นดูมากที่สุดนะคะ  รุ่นน้องสุดคือรุ่นที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อรุ่นพี่   ชั้นปี 2  จะต้องเป็นคนอบรมสั่งสอนน้องปี 1  ให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง  ส่วนรุ่นพี่ชั้นปี 3 ถือว่าเป็นรุ่นเก๋าสุด  จะเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตาย  ถ้ารุ่นน้องทำอะไรผิดกฎหรือทำอะไรผิดพลาด

ยกตัวอย่างเรื่องกฎเบสิคที่รุ่นน้องต้องทำ

  • เจอรุ่นพี่ปั๊บต้องทักทายภายใน 2 วินาที พูดสวัสดีเสียงดังฟังชัด  ไม่ว่ารุ่นพี่จะได้ยินหรือจะตอบกลับหรือไม่
  • ต้องใช้ 敬語 ( けいご : keigo ) ภาษาสุภาพกับรุ่นพี่เท่านั้น ( นักเรียนต่างชาติเมื่อไปถึงร.ร.ใหม่ ๆ  ภาษาญี่ปุ่นยังไม่คล่อง แต่ต้องนั่งท่องภาษาสุภาพสำหรับใช้กับรุ่นพี่กันตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม ถ้าใครเคยเรียนภาษาญี่ปุ่น คงจะทราบว่าการใช้ 敬語 สำหรับคนเพิ่งเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นจะยากขนาดไหน )
  • กิจกรรมชมรม รุ่นน้องปี 1 ต้องเตรียมการทุกอย่างไว้ให้พร้อมก่อนรุ่นพี่จะมาถึง  ฯลฯ

โรงอาหาร มัธยมปลาย ญี่ปุ่น

ยังมีอีกมากมายค่ะ  ที่นักเรียนต่างชาติไม่เคยเจอระบบรุ่นพี่แบบนี้มาก่อน  ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม  น้องๆ นักเรียนไทยหลายคน   ตอนอยู่ชั้นปี1 ก็จะบ่นกันค่ะ  พอได้ไปเป็นรุ่นพี่ปี 2 ปี 3 บ้างก็เลิกบ่น แล้วมาคอยสอนและปลอบใจรุ่นน้องที่มาใหม่ให้อดทนกันไป เพราะตัวเองก็ผ่านจุดนั้นมาแล้ว

สำหรับประเด็นนี้  นักเรียนบางคนที่ทนไม่ได้หรือรับระบบนี้ไม่ได้  แม้จะบอกผู้ปกครองให้ช่วยเหลือ  ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ค่ะ  ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องลาออกไปเท่านั้น   เพราะมันเป็นระบบที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน   แม้จะเข้าสู่มหาวิทยาลัย ไปจนถึงการทำงานที่ญี่ปุ่น  ก็จะต้องเจอระบบรุ่นพี่รุ่นน้องเช่นกัน

4. ขัดห้องน้ำ ถูห้องส้วมคือหน้าที่ ไม่มีภารโรง

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องย้ำกับนักเรียนและผู้ปกครองตั้งแต่แรกเลยค่ะ   เพราะแรกๆ ผู้ปกครองมักจะคิดว่า ดี เป็นการฝึกลูก   แต่พอไปจริงๆ  นักเรียนบางคนรับไม่ได้  เพราะตั้งแต่เกิดมา  อย่าว่าแต่ล้างห้องน้ำเลย  จานยังไม่เคยล้าง  ไม้กวาดยังไม่เคยแตะ

แล้วหน้าที่อันต่ำต้อยที่สุด คือการขัดส้วมนั้น  จะเป็นหน้าที่ของน้องปี 1 ที่เพิ่งโบยบินมาจากเมืองไทย…. ช็อคค่ะ ไลน์ฟ้องคุณแม่กันเป็นแถวว่าโดนขัดส้วม  แต่…ทำอะไรไม่ได้ค่ะนอกจากต้องก้มหน้าก้มตาขัดไป  จนกว่าจะได้เลื่อนขั้นเป็นรุ่นพี่นะคะ

แต่จุ๊..จุ๊… คนญี่ปุ่นเค้ามีความเชื่อว่ามีเทพธิดาแห่งห้องน้ำนะคะ  ถ้าทำความสะอาดห้องน้ำ จะทำให้ยิ่งสวยวันสวยคืน  แถมซ้ำยังมีโชคลาภด้านเงินทองอีกด้วย  จะเป็นวิธีการสอนให้คนอยากทำความสะอาดหรือเปล่า นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่งนะคะ  แต่ที่แน่ๆ การทำความสะอาดห้องน้ำเค้าถือเป็นการชำระล้างจิตใจ  เพราะไม่รังเกียจต่อสิ่งสกปรก และทำให้สะอาดสวยงาม

นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือหอพัก  นักเรียนทุกคนจะต้องช่วยกันทำความสะอาดค่ะ   รวมไปถึงคุณครูก็ทำความสะอาดห้องพักครูเองด้วย  โดยจะมีการแบ่งหน้าที่ไปว่าวันไหนใครรับผิดชอบส่วนไหน    มีเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนที่ดูแลส่วนรวมภายนอกอาคาร หรือส่วนที่ไม่ปลอดภัยค่ะ  แต่พื้นที่ในอาคารเรียนและหอพักโดยรวม นักเรียนจะต้องช่วยกันทำความสะอาด

ชีวิต นักเรียน เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น  ประสบการณ์ เรียนม.ปลาย ญี่ปุ่น

5. ชมรมไม่ใช่แค่สันทนาการ แต่คืองานที่รับผิดชอบ

โรงเรียนมัธยมของไทยเรา  อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องการทำกิจกรรมชมรมมากนัก  แต่ที่ญี่ปุ่น ชมรมหรือ เป็นอีกด้านของชีวิตนักเรียนที่ต้องทุ่มเท นอกเหนือไปจากการเรียนตามหลักสูตร

ชมรมหรือบุคัสซึ 部活 ในโรงเรียนมัธยมปลายของญี่ปุ่นก็มีให้เลือกทำมากมาย   ชมรมกีฬา เช่น ฟุตบอล เบสบอล บาสเกตบอล เคนโด้ ซูโม่ กรีฑา ฯลฯ   ชมรมดนตรี เช่น ประสานเสียง  วงดนตรีสากล  กลองญี่ปุ่น  ชมรมทางศิลปวัฒนธรรม  การแสดง  ชมรมวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ชมรมไทโกะ เรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่น

ชมรม มัธยม ญี่ปุ่น

ชมรมซูโม่ ร.ร.มัธยม ญี่ปุ่น

ส่วนใหญ่เด็กญี่ปุ่นจะเลือกเข้าชมรมที่ตัวเองชอบหรือมีความสนใจ  และไม่ค่อยเปลี่ยนชมรมกัน  ชมรมประเภทดนตรี  กีฬาจะฝึกซ้อมกันเอาเป็นเอาตาย  เป้าหมายเพื่อการแข่งขันระดับเขต  ระดับจังหวัด  ยันระดับประเทศ   มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงานของชมรมอย่างจริงจัง  เพราะการทำกิจกรรมชมรมเป็นเสมือนการฝึกฝนที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น

เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย  ก็ยังคงมีระบบการทำกิจกรรมชมรมนี้อยู่   ไปจนถึงตอนสมัครงาน  จะมีคำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิต คือ สมัยเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง  หรือให้ยกตัวอย่างสิ่งที่เคยทุ่มเทหรือพยายามทำอย่างเต็มที่ในสมัยที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา

การทำกิจกรรมชมรมจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การเรียน

เรียนต่อญี่ปุ่น ม.ปลาย

5 ข้อนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยากให้ผู้ปกครองทราบ  และถ้าตัดสินใจว่าจะส่งให้ลูกไปเรียนในระดับมัธยมปลายที่ญี่ปุ่นจริงๆ  ควรเตรียมใจที่จะรับฟังการโอดครวญจากลูก  และพร้อมที่จะคอยให้กำลังใจ  บอกให้ลูกพยายามและมีความอดทน   หากเคยชินแล้ว  นักเรียนส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ค่ะ

นักเรียนไทยที่เรียนจบมัธยมปลาย  สอบเข้ามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น  เรียนจบปริญญาตรีแล้วหางานทำในญี่ปุ่น   หรือกลับมาทำงานในเมืองไทยได้เงินเดือนแซงหน้ารุ่นพี่ปริญญาโท  มีมาหลายรุ่น  มากมายหลายคนค่ะ

แต่ในขณะเดียวกัน  ก็มีนักเรียนส่วนน้อยบางคนที่ไม่สามารถอดทนอยู่ได้  แล้วผู้ปกครองยินยอมให้ลาออกกลับมากลางครันก็มีบ้างเหมือนกัน    การจะตัดสินใจไปเรียนต่อมัธยมปลายที่ญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองควรจะทำความเข้าใจและมีความพร้อมทางจิตใจทั้งสองฝ่ายค่ะ

 

ประสบการณ์ของรุ่นพี่ กับการเรียน มัธยมปลายที่ญี่ปุ่น

 

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม-ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-267-7726
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top