ตราประทับ ศักดิ์สิทธิ์ของ วัดหรือศาลเจ้า ญี่ปุ่น
ผู้เขียน : เปิ้ล วิพาภรณ์

เมื่อพูดถึงปีใหม่ สำหรับเด็กต่างชาติที่มาญี่ปุ่นปีแรกๆ ก็มักจะตื่นเต้นไปกับการไปไหว้ขอพรปีใหม่ที่วัดหรือศาลเจ้าต่างๆ ในญี่ปุ่นใช่ไหมคะ (แต่พอปีหลังๆ จะเบื่อคนเยอะและเริ่มขี้เกียจ ฮา)

หรือไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนในญี่ปุ่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีวัดหรือศาลเจ้าเข้ามาเป็นหนึ่งในสถานที่ที่จะไปเยี่ยมชมเสมอ เพราะคนญี่ปุ่นเองในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่ได้นับถือพุทธหรือชินโตแบบจริงๆ จังๆ แต่ก็มีสถานที่เหล่านี้เข้ามาในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา

ผู้เขียนจึงอยากมาแนะนำหนึ่งในของสะสมเวลาไปเที่ยว วัดหรือศาลเจ้า นอกจากเครื่องรางน่ารักๆ ที่เรามักจะซื้อติดมือกันมา นั่นคือ 御朱印(Goshuin) หรือ ตราประทับ ศักดิ์สิทธิ์ค่ะ

Goshuin หรือ ตราประทับ ด้วยหมึกสีแดงและใช้พู่กันหมึกดำเขียนชื่อ วัดหรือศาลเจ้า ด้วยอักษรญี่ปุ่น และวันที่เข้าไปสักการะลงไปบน Goshuin-chou หรือสมุดรวมตราประทับ

เดิม Goshuin เริ่มต้นมาก่อนจากวัด ซึ่งตรานี้จะเขียนลงใน Goshuin-cho ให้เฉพาะคนที่มาบริจาคเงินให้กับวัดเท่านั้น และตัว Goshuin-cho นี้ก็จะถูกใส่ลงไปในโลงศพของผู้ตายด้วยเพื่อเป็นการบอกว่าคนนี้ได้ทำบุญมาเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันวัดทั่วๆ ไปก็จะประทับให้กับคนที่มาสักการะโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนบริจาคเงิน

นอกจากนั้นศาลเจ้าหลายๆ ที่ก็มี Goshuin ให้เป็นที่ระลึกกับผู้มาสักการะอีกด้วย ซึ่งแต่ละที่ก็มีตราประทับและตัวอักษรพู่กันที่สวยงามเขียนกันสดๆ กันตรงนั้น จนแทบเรียกว่าเป็นงานศิลปะย่อยๆ งานหนึ่งเลยก็ได้

ด้วยสภาพสังคมญี่ปุ่นที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยความเครียดจนทำให้การสักการะวัดหรือศาลเจ้าที่เป็น power spot (หรือแหล่งพลังงานศักดิ์สิทธิ์) เป็นที่นิยมมากขึ้น การสะสม Goshuin เลยกลายเป็นงานอดิเรกที่เป็นที่นิยมของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นมากขึ้นเช่นกัน และเริ่มเป็นที่นิยมไปถึงชาวต่างชาติที่ชอบอะไรแบบญี่ปุ่นๆ ด้วย

Goshuin ของวัดและของศาลเจ้าโดยทั่วไปแล้วจะมีรูปแบบการเขียนต่างกันเล็กน้อย..

 

ตราประทับศักดิ์สิทธิ์ของวัดหรือศาลเจ้าญี่ปุ่น
ตราประทับของวัด Okuno-in บนเขาโคยะ ที่ผู้เขียนไปสักการะ

 

ของวัดด้านขวาบนจะเขียนคำว่า 俸拝(HouHai) แปลว่าการมาสักการะ ตรงกลางจะเขียนชื่อพระประธานของวัด และเขียนชื่อวัดที่มุมซ้ายล่าง และจะมีวันที่สักการะกำกับเพื่อให้เรารู้ว่าเรามาเยี่ยมเยือนวัดนี้เมื่อไหร่ ส่วนตราประทับหมึกแดงจะเป็นชื่อวัดประทับตรงสามจุดที่เขียนด้วยพู่กัน ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นภาษาสันสกฤต(ของญี่ปุ่น)

 

ตราประทับ วัดหรือศาลเจ้า ของศาลเจ้าเมจิ
ตราประทับของศาลเจ้าMeiji Jinguที่ฮาราจุกุ ที่ผู้เขียนไปไหว้ขอพรปีใหม่

 

ส่วนของศาลเจ้านั้นด้านขวาบนจะเขียนคำว่า俸拝(HouHai)เช่นกัน ส่วนตรงกลางจะเป็นชื่อศาลเจ้าและวันที่มาสักการะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งการเขียนพู่กันมักจะเรียบง่ายกว่าของวัดมากและตราประทับก็จะเป็นตราสี่เหลี่ยมของศาลเจ้าเป็นส่วนมาก ค่ารับตราประทับนั้นส่วนมากจะอยู่ระหว่าง 300-500 เยนขึ้นกับความนิยมของแต่ละที่

ส่วนการจะรับ Goshuin นั้นไม่ใช่ว่าจะให้เขียนลงบนกระดาษอะไรก็ได้ ต้องให้เขียนลงบน Goshuin-cho (หรือสมุดรวมตราประทับ) เท่านั้น ซึ่งสมุดนี้จะเป็นสมุดขนาดเท่าฝ่ามือเป็นกระดาษขาวแบบคลี่ออกมายาวๆ หาซื้อได้ตามวัดหรือศาลเจ้าหรือแม้แต่ร้านขายเครื่องเขียนใหญ่ๆ (เพราะเป็นของสะสมที่เป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น)

 

Goshuin sho ตราประทับ วัดหรือศาลเจ้า
สมุดรวมตราประทับของผู้เขียน ทำจากแผ่นไม้เป็นของพิเศษที่ทำขายเฉพาะที่ Koya-san ในช่วงครบรอบ1200ปีเขาโคยะเท่านั้น (เขาโคยะเป็นต้นกำเนิดศาสนาพุทธนิกายชินงอนของญี่ปุ่น)

 

ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามต่างๆ กันไป เลือกได้แล้วแต่ความชอบใจ สนนราคาก็จะอยู่ระหว่าง 1500 เยนขึ้นไปแล้วแต่ความยิ่งใหญ่อลังการของสมุดค่ะ ซึ่งที่แรกที่เราซื้อสมุดก็จะรวมราคาค่าตราประทับมาให้ด้วยแล้ว

เนื่องจากว่า Goshuin ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งเพราะมีชื่อพระประธาน ชื่อวัดหรือชื่อศาลเจ้าอยู่ข้างใน และยังเป็นเครื่องยืนยันถึงการทำบุญของเราเพราะฉะนั้นการขอรับ Goshuin จึงมีมารยาทที่พึงระวังด้วยกันสี่ประการหลักๆ นั่นคือ

1️⃣ ต้องทำการสักการะที่วัดนั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าไปเพื่อรับ Goshuin อย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดไปท่องบทสวดมนต์แต่แค่ไปกราบไหว้หน้าพระประธานหรือยืนไหว้ตรงจุดสักการะของศาลเจ้าก็เพียงพอแล้ว

2️⃣ ต้องใช้ Goshuin-cho เท่านั้นและเตรียมเปิดหน้าว่างที่จะให้ประทับยื่นให้ บางที่อาจมีการอนุโลมเขียนลงบนกระดาษเปล่า(ที่ทางวัดหรือศาลเจ้าเตรียมไว้)ให้ได้แต่เป็นส่วนน้อยจริงๆ และราคาค่อนข้างแพง ทางที่ดีควรพก Goshuin-cho ติดตัวไว้ตลอดเวลาออกไปเที่ยว

3️⃣ รอรับด้วยความสงบ ไม่พูดคุยเสียงดังหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะเป็นการเสียมารยาทต่อผู้ที่ตั้งใจเขียนให้ หลังจากรับสมุดคืนแล้วก็ควรกล่าวขอบคุณด้วย

4️⃣ ควรเตรียมเงินไปให้พอดีและเป็นเหรียญร้อยเยน แต่ในกรณีที่ไม่มีจริงๆ เหรียญห้าร้อยเยนหรือใบละพันก็ยังพออนุโลมได้ แต่ไม่ควรจ่ายเป็นเหรียญย่อยสิบเยน ห้าสิบเยนหรือแบงค์ใหญ่เกินพันเยนขึ้นไป เพราะทำให้ทางวัดหรือศาลเจ้าลำบากในการทอนเงิน

ส่วนสถานที่รับ Goshuin นั้นส่วนมากมักจะอยู่ตรงจุดที่เป็นส่วนสำนักงานของวัดหรือส่วนเดียวกับที่ขายเครื่องราง ซึ่งมักอยู่ใกล้ๆกับส่วนอุโบสถ ให้สังเกตุป้าย 御朱印 ดูค่ะ และเนื่องจาก Goshuin-cho นั้นเป็นสมุดรวมของสูงเราจึงควรตั้งไว้ในที่สูง หรือที่หิ้งพระเช่นเดียวกับพระประจำบ้านค่ะ

สุดท้ายนี้แล้วก็เริ่มออกเดินทางประทับความทรงจำของการไปเยี่ยมชมวัดและศาลเจ้าของเราตลอดเวลาที่เราอยู่ญี่ปุ่นกันดีกว่าค่ะ! ☺️

 


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top