ค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น

การประหยัด ค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น

การประหยัด ค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น

ผู้เขียน :  2,861.9 ไมล์จากพระนคร

อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่าครองชีพแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (โดยในการจัดอันดับค่าครองชีพของเมืองต่างๆ ในโลกของปี2016 นี้

โดยเมอร์เซอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์  จัดโตเกียวไว้ที่เมืองที่มีค่าครองชีพเป็นอันดับ 11 ของโลก หรืออันดับ 6 ของเอเชียรองจากฮ่องกง สิงค์โปร์ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และโซล) เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นนี้ต้องหาสารพัดวิธีที่จะประหยัดให้ได้เยอะที่สุด

เรามาดูกันว่า ทริคในการประหยัด ค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น จะทำยังไงได้บ้าง โดยเราจะมาดูกันตามปัจจัย4พื้นฐานกันเลยค่ะ

1. ที่พักอาศัย

แน่นอนว่าที่ญี่ปุ่นขึ้นชื่อลือชาเรื่องที่ดินราคาแพง ค่าเช่าบ้านก็ย่อมต้องแพงตามธรรมดา แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ จริงๆแล้วที่บอกว่าแพงนี่แค่ในโตเกียวและเมืองรอบ ๆ เท่านั้นค่ะ ถ้าเป็นต่างจัดหวัดนี่ราคาค่าเช่าบ้านจะหล่นลงไปเกือบครึ่งหรือเกินครึ่งของโตเกียวเลยทีเดียว

ค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น ประหยัดค่าที่พัก

จากการสำรวจโดยสมาคมธุรกิจควบคุมค่าเช่าบ้านทั่วประเทศในปี 2015 พบว่าค่าเช่าบ้านเฉลี่ย (ย้ำว่าเป็นแค่ค่าเฉลี่ยนะคะ อาจแพงถูกกว่านี้ขึ้นอยู่กับทำเลและความเก่าของบ้านด้วย) ของบ้านขนาด 1 ห้องในโตเกียวอยู่ที่ 71,352 เยน

รองลงมาคือจังหวัดคานาซาว่า อยู่ที่ 56,862 เยน  / จังหวัดเฮียวโก 52,173เยน  / จังหวัดไซตามะ 50,613 เยน และโอซาก้า 49,838 เยน

ส่วนจังหวัดที่ค่าเช่าบ้านถูกที่สุดนั้นคือ จังหวัดกุนมะ  36,918 เยน  / จังหวัดยามากุจิ 37,497 เยน / และจังหวัดโทคุชิมะ 37,709 เยน

เพราะฉะนั้นการเลือกพักอาศัยอยู่ต่างจังหวัดนอกโตเกียว จึงทำให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มากทีเดียวค่ะ   แต่ข้อเสียก็คือยิ่งเราอยู่ในที่กันดารหรือต่างจังหวัดมากเท่าไหร่ งานพิเศษก็จะหายากมากขึ้นและค่าแรงก็จะถูกลงเยอะด้วยค่ะ ก็ต้องชั่งใจเอาว่าเราจะเลือกอะไรค่ะ

แต่ถ้าใครคิดว่าไหน ๆ ก็มาญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องมาดูความเจริญของโตเกียวสิ ก็แนะนำให้เลือกอยู่ในเขตที่ค่าเช่าบ้านไม่แพงค่ะ เช่น เขตที่ถูกที่สุดใน 23 เขตในโตเกียวนั่นก็คือ เขต Katsushika โดยจะเฉลี่ยค่าเช่าบ้านขนาด 1 ห้องอยู่ที่ 62,000 เยน  ตามมาด้วยเขต Adachi อยู่ที่ 64,400 เยน และเขต Itabashi อยู่ที่ 68,100เยนค่ะ

 

2.อาหาร

วิธีที่ถูกที่สุดในการประหยัดค่าอาหารที่ญี่ปุ่น คือการทำอาหารกินเองค่ะ ถ้าใครพอจะทำอาหารเป็นหน่อยควรซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเองที่บ้าน ซึ่งการเลือกวัตถุดิบราคาถูกนั้น  จริงๆ แล้วไม่ควรซื้อที่ซุปเปอร์ขนาดใหญ่ใกล้ๆ สถานีเช่น พวกซุปเปอร์ Itoyokado นี่ราคาแพงทีเดียว

วัตถุดิบราคาถูกจริง ๆ แล้วมักอยู่ตาม shopping street ที่รวมร้านค้าท้องถิ่นของเมืองค่ะ เช่น ผักก็ซื้อที่ร้านขายผัก  เนื้อก็ซื้อที่ร้านขายเนื้อ  ข้าวก็ซื้อที่ร้านขายข้าว  ถึงแม้ว่าประเภทสินค้าอาจจะน้อยกว่าซุปเปอร์ใหญ่ ๆ แต่ถ้าไม่ได้กินอะไรหวือหวาพิสดารมาก ก็ถือว่ามีของจำเป็นครบถ้วนค่ะ

japanese_meatshop

แต่ร้านประเภทนี้มีข้อเสียคือ ปิดเร็ว (ไม่เกินทุ่มมักจะปิดแล้ว) และมักไม่ค่อยเปิดวันอาทิตย์ค่ะ ถ้าใครต้องทำงานกลับบ้านดึก ก็อาจจะต้องใช้วิธีซื้อตุนวันเสาร์ค่ะ  หรือไม่ก็พึ่งร้าน 100 เยนลอว์สัน ซึ่งเป็นร้านที่เน้นอาหาร วัตถุดิบ เครื่องปรุงแบ่งของขายน้อย ๆ ในราคา 100 เยนและเปิด 24 ชั่วโมง

ส่วนถ้าใครมีฝีมือทำอาหารน้อย จำเป็นต้องฝากท้องนอกบ้าน ก็คงต้องดูพวก Yoshinoya (ข้าวหน้าเนื้อ) Hanamaru (อุด้ง) เป็นต้น แต่ก็จะทำให้เป็นโรคขาดสารอาหารได้ค่ะ

จริงๆแล้วผู้เขียนแนะนำให้รอซื้อข้าวกล่องลดราคามากกว่า คือตามซุปเปอร์มาร์เก็ตนี่ เวลาก่อนปิดห้างซักสองชั่วโมง อาหารกล่องปรุงสดจะเริ่มนำมาลดราคา โดยเริ่มจาก 20% ก่อน และเมื่อใกล้ๆ ครึ่งชั่วโมงก่อนปิด นี่คือลดครึ่งราคาเลยค่ะ

ประหยัดค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น

พวกซูชิขนาดหนึ่งคนทาน บางทีก็เหลือแค่สี่ร้อยเยน อาหารกล่องสองร้อยเยนก็มีค่ะ แต่จะมีข้อเสียคือเราต้องยืนเฝ้าค่ะ เพราะจะมีคนญี่ปุ่นรอแปะป้ายลดราคาเช่นกัน งานนี้ใครเร็วใครได้ค่ะ ส่วนน้ำดื่มไม่จำเป็นต้องซื้อค่ะ น้ำปะปาดื่มและทำอาหารได้เลย หรือถ้าใครไม่ชอบดื่มน้ำเปล่าอาจซื้อใบชามาต้มเอง ใส่ขวดออกไปดื่มข้างนอก ประหยัดค่าน้ำดื่มได้เยอะเลยค่ะ

 

3. เสื้อผ้า

ตอนนี้ญี่ปุ่นมีทางเลือกเสื้อผ้ามากกว่าสมัยก่อนเยอะ ไม่ว่าจะเป็น Uniqlo หรือ GU ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในราคาสมคุณภาพ แต่เราก็ยังมีทริคที่จะซื้อให้ได้ถูกขึ้นอีกคือ รอซื้อวันหยุดเสาร์อาทิตย์ค่ะ เพราะสองร้านนี้มักจะหมุนเวียนนำสินค้ามาลดราคาทุกเสาร์อาทิตย์ โดยเฉพาะวันหยุดยาวสินค้าที่นำมาลดราคาจะมากชนิดขึ้นไปอีก

shopping

นอกจากนั้นเสื้อผ้าในซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ ๆ เช่น อิออน หรือ Itoyokado ก็มีเสื้อผ้าราคาถูกคุณภาพดีเช่นกันค่ะ หรือถ้าใครเบื่อเสื้อผ้าแบบเรียบ ๆ ก็อาจจะรอช่วงเวลาลดราคาที่ญี่ปุ่น คือเดือนมกราคมถ้าซื้อเสื้อผ้าหน้าหนาว หรือเดือนกรกฎาถึงต้นสิงหาถ้าซื้อเสื้อผ้าหน้าร้อนค่ะ ช่วงนี้ญี่ปุ่นจะเรียกว่า Clearance sale คือเป็นช่วงที่ลดราคาเยอะที่สุดในญี่ปุ่นแล้ว บางที่ลดกันไปถึง 90 %เลยทีเดียว ผู้เขียนเคยซื้อเสื้อโค้ตหน้าหนาวได้ในราคา 2,000 เยนหรือเสื้อแขนยาวแบบมียี่ห้อในราคา 200 เยนในช่วงนี้ค่ะ

นอกจากนั้นก็จะมีการลดราคาประจำฤดูกาลอีกเช่น ฤดูใบไม้ผลิช่วงก่อนโกลเด้นวีค (กลางเดือนเมษาไปถึงต้นพฤษภา) ซึ่งจะเป็นเสื้อผ้าหนาหน่อยแต่ไม่มากเท่าหน้าหนาว  หรือฤดูใบไม้ร่วงก่อนซิลเวอร์วีค (กลางเดือนกันยาไปถึงปลายเดือนกันยา) ก็จะคล้ายๆฤดูใบไม้ผลิ แต่สีเสื้อจะออกโทนมืดมากกว่า แต่การลดราคาประจำฤดูกาลจะไม่ลดหวือหวาเท่า clearance  sale ค่ะ ก็จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 50 %ค่ะ

 

4. หยูกยา หาหมอ

อันนี้จะหาทางประหยัดยากค่ะ  เพราะที่ญี่ปุ่นโรงพยาบาลทุกโรงส่วนมากราคาจะไม่ต่างกันมาก (นอกจากจะไปโรงพยาบาลหรูสำหรับคนรวยจริงๆ) แต่จริงๆ แล้วค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ถ้ามีประกันสุขภาพค่ะ เพราะถ้าเราทำประกันสุขภาพ ก็จะลดค่ายาค่ารักษาพยาบาลโดยจ่ายเพียง 30% เช่นถ้าไปหาหมอแบบตรวจเฉยๆบางทีก็เหลือแค่ไม่ถึงพันเยนค่ะ

medicine

วิธีประหยัดคือ ประหยัดค่าประกันสุขภาพมากกว่าโดยเราอาจเลือกอยู่ในเขตที่ค่าประกันสุขภาพไม่แพงค่ะ (เพราะค่าประกันจ่ายราคาไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัดแต่ละเขต เพราะค่าประกันเค้าจะเฉลี่ยจากคนอาศัยในเขตเมืองนั้นๆมา เมืองไหนคนเข้าโรงพยาบาลบ่อย รายได้ไม่เยอะก็จะราคาแพงค่ะ)

เช่น เมืองฮิโรชิมะ ในจังหวัดฮิโรชิมะนี่ ค่าประกันสุขภาพแพงที่สุดในญี่ปุ่นเลย ส่วน 23 เขตในโตเกียวนี่อยู่ในระดับค่อนข้างถูกค่ะ คือถูกกว่าฮิโรชิมะถึงเกือบเท่าตัวเลย เพราะคนรายได้เยอะและยังมีคนหนุ่มสาวเยอะ

แน่นอนว่าคนอาศัยในเขตเมืองคนหนุ่มสาวเยอะจะได้เปรียบค่ะ นอกจากนั้นเวลาซื้อยาที่หมอจ่ายมาเราสามารถขอให้ร้านขายยาจ่ายยาแบบ Generic (คือยาสามัญซึ่งลอกเลียนสูตรยาต้นแบบเมื่อยาเหล่านั้นหมดสิทธิบัตรแล้ว ทำให้ราคาถูกเพราะไม่ต้องจ่ายค่าวิจัย) ให้ได้ค่ะ  ซึ่งถ้าไม่บอกร้านขายยาส่วนมากจะจ่ายยาต้นแบบให้มากกว่า เพราะกำไรมากกว่า

แต่วิธีที่ดีที่สุดคือรักษาตัวเองให้แข็งแรงไม่ป่วยค่ะ โดยเฉพาะหน้าหนาว ทำตัวให้อบอุ่น ขยันล้างมือและใช้น้ำยากลั้วคอเวลากลับจากข้างนอกเข้าบ้าน จะป้องกันโรคได้ดีขึ้นเยอะเลยค่ะ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . .  . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

สุดท้ายนี้ การทำงานพิเศษหรือหาทุนจากโรงเรียนหรือองค์กร ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายไปได้อีกค่ะ เพราะที่ญี่ปุ่นไม่ห้ามนักเรียนทำงานพิเศษ (แต่จำกัดชั่วโมงรายสัปดาห์) และมีทุนที่สามารถหาหลังจากมาได้มากมายถ้าผลการเรียนดีพอค่ะ

แต่ยังไงก็อย่าประหยัดมากเกินไปหรือทำงานพิเศษมากเกินไป จนกระทบกับการเรียนการงานค่ะ เพราะเป้าหมายของการมาญี่ปุ่นของเราคือ ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จให้ได้เร็วที่สุด  ไม่ใช่มาแข่งกันอยู่ญี่ปุ่นอย่างไรให้ได้ถูกที่สุด อย่างนักเที่ยวไทยฮิตๆกันสมัยนี้ค่ะ (ฮา)

 


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-2677726 ต่อ 101-104
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top