การเรียนด้าน ศิลปะ และการออกแบบที่ญี่ปุ่น

ดร.ชลฤทธิ์ เหลืองจินดา (อ่าว)

การศึกษา ปริญญาเอก Division of Design (Yamamoto laboratory)
Graduated School of Kyoto Institute of Technology

ศิลปะ และการออกแบบ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010

 

อะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไง

คำถามหมุนควงกระแทกเปลือกกระโหลกด้านในที่ในนั้นเต็มไปด้วยความว่างเปล่าและขี้เลื่อยของฉัน ช่วงเวลาที่รู้ตัวว่าเรากำลังจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นเหตุผลเดียวที่ทำให้ฉันเลือกที่อยากจะมาเรียนที่ญี่ปุ่นคือญี่ปุ่นคือเดอะเบสด้านออกแบบของเอเชีย เย้ายวนชวนฝันพอที่จะทำให้ฉันตัดสินใจเลือกมา แต่นั้นคือจุดเริ่มแห่งความไม่รู้สารพัด กลัว งง ประหม่า มืดมิด จิตตกขั้นรุนแรง แต่ฉันก็มีไฟฉายนำที่จะช่วยส่องนำทางให้ ที่สำคัญมันเป็นหลอดไฟสุกสว่างจากหลอดฟลูเรนต์เซ้นซะด้วย (สว่าง ชัด แต่ประหยัดค่าใช้จ่าย) ฉันจะเริ่มจากยังไงดี

ญี่ปุ่น โอ้ ชีวิตฉัน พลางบรรจงพิมพ์เสิร์ชหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต “Jeducation” ชื่อนี้ปรากฏชัดอยู่ตรงหน้า ฉันไม่รอช้าที่จะใช้เม้าส์เคลื่อนเสาะหาข้อมูลทุกอย่างที่ในเว็บนี้ที่บริการข้อมูลเกี่ยวกับญี่ปุ่น และนั้นคือไฟฉายวิเศษที่ฉันมี ซึ่งสาดส่องความมืดมิดให้สว่างเป็นฉากๆ ตามมาสิ ฉันจะเล่าเป็นฉากๆ ว่าแต่ละฉากเกิดเรื่องราวรวมเป็นโรงละคร ศิลปะ การออกแบบที่แสนจะโออิชิแค่ไหน


ฉากแรก
“อะ อิ อู เอะ โอะ”

จะไปประเทศญี่ปุ่นก็ต้องเพิ่มโหมดความสามารถทางภาษาก่อนเลย ไม่ต้องคิดนาน ลงเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อนอันดับแรกเพื่อการเอาตัวรอดในญี่ปุ่นให้ได้  6 เดือนขั้นต่ำสำหรับสมองที่ยังพอใช้การได้ ทางเลือกด้านภาษาคือจะเรียนที่ไทยก่อนหรือจะมาดับเครื่องชนที่ญี่ปุ่นได้ทั้งนั้น แล้วแต่ความพร้อมด้านจิตใจและตังค์ในกระเป๋า ต้องผ่านจุดนี้ให้ได้ไม่งั้นอาจต้องใช้ชีวิตในญี่ปุ่น แบบสลดจิต


ฉากสอง
“นักล่า”

ฉันล่ารายชื่อสถาบันที่เปิดสอนการออกแบบในญี่ปุ่น รวมไปถึงรายชื่ออาจารย์ที่น่าสนใจ ใช้เวลาไปไม่ต่ำกว่า 1 เดือน หายใจทางผิวหนัง ค้นทะลุทุกเว็บ ตามติดเกาะหนึบสถาบันที่น่าสนใจ เช่น Tokyo University of the Arts, Kyoto Institute of Technology, Kyoto city University of Arts, Musashino Art University, Tama Art University, Nihon University college of Art, Kyoto University of Art and design เป็นต้น ส่งเมลไปขอเข้าพบอาจารย์เกือบทุกที่

 

ขั้นตอนคร่าวๆมีดังนี้

หัวข้อต้องชัดเจน อาจารย์ต้องตอบรับ ไม่เช่นนั้นการเข้าเป็นนักศึกษาห่างไกลประมาณทางช้างเผือก บางคนเริ่มด้วยการเป็นเด็กรีเสิร์ชก่อน รอสอบเข้า เรียนไม่นับหน่วยกิต ให้อาจารย์ได้คุ้นเคย ได้ศึกษาแนวคิด ตอนสอบเข้าอาจจะเข้าง่ายขึ้น ในแต่ละปีบางสถาบันเปิดรับรอบเดียว บางที่เปิดสองรอบ เช็คให้ดีไม่งั้นจะเจ็บปวดกับการรอคอยแน่ๆ

ส่วนใหญ่เปิดรับสมัครช่วง เดือน 12-1 เพื่อเข้าเดือน 4 และช่วง เดือน 7-8 เพื่อเข้าเดือน 10 เล็งให้ดี ยิงให้ตรง เรื่องภาษาฉันถือว่าพอถูพอไถเลยยื่นโทเฟลแทน บางสถาบันเลือกยื่นได้ระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น แต่ต้องควรมีพื้นฐานญี่ปุ่นอยู่ดี ไม่ขำเลยถ้าเนียนญี่ปุ่นไม่ได้ โหดร้ายชีวิตแน่นอน แถมหน่อยเรื่อง Portfolio ควรทำเป็นไซส์ A3 ที่นี่เค้าปลื้มไซส์นี้ เตรียมไปพรีเซนต์ตอนสอบสัมภาษณ์ ซัดให้เต็มเหนี่ยวไปเลย

ฉากสาม  “พกความมั่นใจ”

อาจารย์ทั้งภาควิชาจะนั่งรออยู่ในห้องสัมภาษณ์ ล้อมฉันราวกับล้อมอโยธยาศรีรามเทพนคร ยิงคำถามสารพัด โดยเฉพาะเรื่องหัวข้อวิจัยที่อยากจะทำ ฉันพอคาดสถานการณ์ได้ว่าจะเกิดคำถามอะไรขึ้นในขั้นตอนนี้ แต่ไม่นึกว่าจะเจอแบบรุมล้อมอบอุ่นเช่นนี้มาก่อน แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีหากเราตกลงกับอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน เค้าจะช่วยเราตอบช่วยทุกอย่างที่จะสามารถทำให้เราเข้าเป็นนักศึกษาของเค้าให้ได้

เกมส์นี้จะเห็นชัดเลยว่าเราจะต้องเลิฟๆกับอาจารย์ให้ได้ก่อน ที่เหลือปล่อยให้อาจารย์เค้าจัดการ และส่วนใหญ่หลายสถาบันก็เป็นแบบนี้ อย่าลืมจัดให้เต็ม ทำให้เนียน ของฝากจากเมืองไทย เอาช้างขนไปฝากเลย เค้าจะเป็นเหมือนพ่อคนที่สองของเรา แม้กระทั้งเรื่องขอทุนหลังจากเป็นนักศึกษาแล้ว ส่วนเรื่องการสอบข้อเขียนจะมีแบบทดสอบความสามารถด้านดรออิ้ง ใครเป็นสถาปัตย์ก็แนวนั้น กราฟฟิกดีไซน์ก็แนวนึง โปรดักซ์ดีไซน์ก็อีกแบบนึง ข้อสอบไม่มีกากบาทให้มานั่งเดานะ มีไม่กี่ข้อปรนัยล้วนๆ แต่จะตอบเป็นตัวหนังสือหรือวาดรูป อันนี้แล้วแต่ละที่จะกำหนด พยายามเช็คว่ามีคนไทยเรียนอยู่หรือไม่ เผื่อมีตัวอย่างข้อสอบปีก่อนๆ เอามาดูเป็นตัวอย่าง


โฆษณาคั่น
“ผู้ให้การสนับสนุน”

โดยทั่วไปทุกสถาบันมีทุนการศึกษาให้สำหรับนักเรียนต่างชาติ แต่สายออกแบบได้ยาก ฉันยื่นขอไปไม่ต่ำกว่า 5-6แห่งแหล่งทุน ปรากฎว่าอดสนิท แต่น้องๆที่นี่บางคนก็มีได้รับเหมือนกัน โชคดีที่สถาบันฉันเป็นของรัฐค่าเล่าเรียนจึงถูกกว่าเอกชน และในบางเทอมสามารถทำเรื่องยื่นขอลดค่าเล่าเรียนได้ในอัตราจ่าย 50% 25% หรือฟรี แล้วแต่การพิจารณา ฉันร่ายมนต์กล่อมจิตคณะกรรมการอยู่เทอมนึง เค้าเมตตาลดค่าเทอมๆนั้นคือจ่ายแค่ครึ่งเดียว นั่นก็พอจะทำให้ฉันโล่งหัวใจนิ่มน้อยๆไปได้พักใหญ่

อีกทั้งปกติทุกสถาบันจะมีหอพักนักเรียนไว้ให้อาศัยในราคาแสนถูก ช่วยได้เยอะจริง อย่างที่พักฉันค่าใช้จ่ายตกราวๆ 4,000 บาท จัดว่าราคานี้ถูกกว่าในกรุงเทพด้วยซ้ำ แต่ว่าของดีและถูกใครก็ชอบฉะนั้นคิวจองยาว ต้องมีแก่งแย่งชิงกันหน่อย ใครดี ใครไว คว้าไป แต่ก็ใช่ว่าไม่ได้อยู่หอนักเรียนแล้วจะแพงเกินไป เพราะก็มีหอพักข้างนอกราคาย่อมเยาว์ไว้บริการเช่นกัน

 

ฉากสี่ “ตัวพระออกโรง”
แล้วฉันก็ได้เป็นนักเรียนสมใจ นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง หลายคนใช้เวลา งงชีวิตหลายเดือนกับการไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรเกี่ยวกับหัวข้อแม้ว่าเราจะวางแผนมาระดับนึง แต่สิ่งแรกที่ช่วยให้เราไม่เหงาไปนัก ก็ต้องลงเรียนวิชาบังคับให้ครบซะก่อน บอกตามตรงนอกจากเรียนวิชาบังคับแล้ว ฉันไม่ได้ดำเนินการทำวิจัยอะไรเลย เหนื่อย ขี้เกียจ เอาไว้ก่อน ล่วงไปเกือบ 6 เดือน ถึงมารู้ตัวว่าต้องเริ่มมีผลงานบ้างแล้วล่ะ

สิ่งนึงที่ฉันกำหนดคือ พยายามมีงานไปเสนออาจารย์ให้ได้ทุกๆเดือน ไปให้เค้าเห็นหน้า และ เห็นใจ ที่สำคัญงานออกแบบมันแก้ไขไม่จบสิ้น ให้เวลา 100 ปี มันก็แก้ได้ 100 ปี “งานออกแบบญี่ปุ่นไม่มีผิดไม่มีถูก คำว่าเหมาะสม (กับสถานการณ์, เวลา , การนำไปใช้ ) นั้นคือจุดลงตัว” สไตล์การออกแบบที่คำนึงถึงส่วนละเอียดอ่อน ทั้งในตัวผลงานและความรู้สึกของคน ที่นี่ประเสริฐเลิศเลอที่สุดแล้วในการจะมาเรียนรู้

ศาสตร์แจ่มๆที่ญี่ปุ่นเป็นตัวแม่คือ ศาสตร์ที่ชื่อว่า Kansei design การศึกษาปฎิกิริยาความรู้สึกของคนกับสิ่งที่สัมผัส ญี่ปุ่นเลยมีงานออกแบบแปลกประหลาด หลุดวงโคจรเพื่อมาสนองตัญหาของคนมากมาย ในศาสตร์ประเภทนี้มันครอบคลุมคืบคลานเข้าไปแทะโลมหัวใจฉันทีละน้อยๆ แถมคนที่นี่ก็เปิดกว้างยอมรับทุกไอเดีย

แม้ฉันจะคิดว่าบางอย่างมันช่างแสนสยิวกิ้วเกินหัวใจอันบริสุทธิ์ของฉันจะทานทนไหว สังคมนักออกแบบที่นี่คล้ายตะวันตกแต่เจือด้วยลีลาชั้นเชิง กล่าวคือ ตอนเถียงงาน เถียงกันโรมรัน ใส่ไม่หยุด ฉุดไม่ไหว แต่ท่าทีการแสดงออกแสนจะละมุนละม่อม ไม่เหมือนแนวตะวันตก อย่าเงียบใบ้ เดี๋ยวเค้าจะหาว่า “อ่อน” ฉันก็เลยแสดงความคิดเห็นสุดฤทธิ์ (แต่ต้องมีข้อมูลนะอย่ามามั่ว) ญี่ปุ่นชอบการโต้แย้ง แต่ต้องมีลีลา มีทางออกให้ปัญหานั้นด้วย และจะขอบอกกระซิบข้างหลังหู คือที่นี่มีงานออกแบบชื่อดังมาจัดโชว์บ่อยมาก ศิลปินนักออกแบบชื่อดัง บางทีฉันก็แอบเห็นนั่งกินราเมนอยู่ข้างทางโดยเฉพาะแถวโตเกียว มาเรียนอย่าเสียเที่ยว ไปดูให้เยอะสิทธิพิเศษของนักเรียนมากพอๆกับนายกรัฐมนตรี

เรียนที่นี่อย่าอยู่เป็นที่ๆเดียว พยายามทำตัวเป็นเซเลปไฮโซไปนู้นมานี่ มีงานไหนไปแจม จะเห็นของแปลกและดี ของบางอย่างไม่ต้องใช้ตังค์ ใช้ความเป็นนักเรียนนี่แหละ เค้าต้อนรับราวกับเรดคาเป็ตเชียว สังคมเค้าสนับสนุนการเรียนรู้ศึกษา เทคโนโลยีล้ำหน้าวิชาล้ำลึก เสาะแซะเข้าไปทุกมุม งัดออกมาดูมาชม มันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจเยอะมาก ฉันนี่ก็ไปแซะมาใช้ในงานตัวเองหลายอันเหมือนกัน

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ตรงต่อเวลา แม้นักออกแบบหลายคนจะติ๊ดแตกแต่เรื่องเวลาเป๊ะมาก อย่าพลาดเชียว เพราะหลายอย่างเราต้องนัดเพื่อใช้งานเช่น เครื่องมือบางอย่างต้องจอง ต้องมีพนักงานคุม ทำเป็นเดินเนียนเข้าไปใช้ หรือ มาสายผิดนัด เดี๋ยวจะโดนไม่ใช่น้อย ต้องเคารพกฎที่เค้ามีอย่างเคร่งครัด (บางอย่างก็เว่อร์ไป..ทำใจเถอะ) เป็นอันว่าทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว ปรับตัวให้ได้ล่ะกัน  จะว่าไปแล้วทุกสาขาการออกแบบในการเรียนที่นี่มันมีจุดเด่นสิ่งนึงที่คล้ายกันคือ สนใจในรายละเอียด หยิบเอาธรรมชาติและความรู้สึกมาประกอบในงาน วิทยาศาสตร์กับศิลปะมันก้าวไปพร้อมกัน มาลองดูก่อนก็ได้ อย่างน้อยก็ถือว่ามาเที่ยวกินซูชิอร่อยๆ มาดูของแปลกตา ไม่แน่อาจตกหลุมรักเหมือนกับฉันก็ได้

นิดนึงต้องขอมาบอกคือ เมื่อรู้ตัวว่าจะมาญี่ปุ่นแล้วควรเข้าไปเป็นสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่น ซึ่งเค้ามีมา 70 ปีได้แล้ว ตอนนี้มีเวปไซส์ www.tsaj.org  ถือเป็นอีกแหล่งฐานข้อมูลที่จะช่วยเหลือนักเรียนไทยในญี่ปุ่น หลายด้านๆ เช่น การศึกษา การทำงาน การเป็นอยู่ ปัญหาทั่วไป มีเว็บบอร์ดแบ่งเป็นเขต และเมืองต่างๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น ที่วิเศษเห็นจะมีกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละปีมีให้เลือกสรรเพียบ ฉันก็ถือเป็นสมาชิกหนึ่งในสมาคมฯเช่นกัน หลายครั้งก็แอบไปตั้งคำถามปัญหามากมาย กลุ่มนักเรียนที่นี่ก็แสนใจดี ตามมาตอบให้หายข้องใจหลายๆประเด็น

 จะว่าไปแล้วญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศที่มาแล้วจะอ้างว้างเลย สังคมที่นี่อบอุ่น วัฒนธรรมน่าศึกษาเรียนรู้ การให้ความสนับสนุนในหลายๆด้านถือเป็นที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความเข็มแข็งของกลุ่มนักเรียนไทยจัดว่าไม่เป็นสองรองใคร มาสัมผัสด้วยตัวเองจึงจะซาบซึ้งตรึงใจ ยากที่จะอธิบายเป็นภาษาเขียนได้หมด สิ่งเดียวที่ต้องนำมาจากเมืองไทยคือ “ทัศนคติในการปรับตัว” ต้องมีให้มาก พกมาให้เยอะ เพราะถ้ามีแล้วไปอยู่มุมไหนของญี่ปุ่น ก็แสนมหาสุขไม่ต่างกัน

 อาวงชี่

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://stocksnap.io/photo/F672CBDC0F


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-2677726 ต่อ 101-104

พูดคุยกับเจ้าหน้าที่แนะแนวทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่

Scroll to Top